ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีใครพูดถึง

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเรา ล่าสุด ธนาคารโลกรายงานว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมลํ้ามากสุดในเอเชียตะวันออก

สวนทางกับทิศทางในอดีตและในประเทศอื่นๆ ชี้ว่าวิธีการบริหารเศรษฐกิจในบ้านเราช่วงสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้ทําให้ประเทศพัฒนาดีขึ้น ตรงกันข้าม ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่กลับไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เป็นปัญหาซีเรียสที่จําเป็นต้องแก้ไข นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในเอกสารวิจัย 74 หน้าของธนาคารโลกเรื่อง “วินิจฉัยรายได้ภาคชนบทประเทศไทย” (Thailand Rural Income Diagnostic) เผยแพร่เดือนตุลาคมปีนี้ ผลวิเคราะห์ชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจวันนี้

ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่หรือ Gini Coefficient ปี2019 อยู่ที่ 43.3 ขณะที่อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2016 2018 2020 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2020 หลังจากที่ได้ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 58 ของประชากรในปี 1990

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ รายได้ภาคเกษตรและภาคธุรกิจที่ซบเซา และการระบาดของโควิด-19

การเพิ่มขึ้นของความยากจนขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว เป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับความเป็นจริงทั่วโลกที่ความยากจนจะลดลงเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราจึงค่อนข้างพิเศษ

ชี้ว่าวิธีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลและการทํางานของระบบราชการในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นอกจากจะทําให้เศรษฐกิจขยายตัวตํ่าและคนรวยยิ่งรวยมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนที่ไม่รวยกลายเป็นคนจนมากขึ้นด้วย นี่คือความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมี

เอกสารธนาคารโลกให้ข้อมูลว่า การลดลงของความยากจนในประเทศเราที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 เริ่มแผ่วตั้งแต่ปี 2015 อัตราความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2016 2018 และปี 2020

และประมาณร้อยละ 79 ของคนที่ยากจนอาศัยอยู่ในชนบท ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้หลักจากภาคเกษตร กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ และที่มากสุดคือภาคใต้และภาคอีสาน

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจนลําบาก แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนร้อยละ 15-20 ของการส่งออกของประเทศ เพราะรายได้เกษตรกร (farming) ได้ลดลงต่อเนื่องจากปัญหาผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรที่ตํ่า ทําให้รายได้ภาคเกษตรโตช้า กระทบความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก เพราะกว่าหนึ่งในสามของกําลังแรงงานของประเทศมีรายได้หลักจากภาคเกษตร นี่คือต้นตอของปัญหา

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมลํ้าเกิดจากความสามารถในการหารายได้ที่ไม่เท่ากันระหว่างคนสองกลุ่ม คือคนมีกับคนไม่มี คนมีหรือคนรวยมีจํานวนน้อยกว่าแต่มีอัตราการเพิ่มของรายได้สูงกว่าคนไม่มี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่มีอัตราการเพิ่มของรายได้ตํ่ากว่ามาก เมื่อความแตกต่างในการหารายได้มีต่อเนื่อง การกระจายรายได้ของประเทศก็แย่ลงต่อเนื่อง